ยาอี ยาเลิฟ เอ็กซ์ตาซี (Ecstasy)


ยาอีและยาเลิฟเป็นอนุพันธ์ของกลุ่มยาบ้า (amphetamines)

          ชื่อเรียกตามกระแสนิยม เช่น ยาเลิฟ (Love drug หรือ Love Pills) ยากอด (Hug Pills) ยาหัวส่าย
          ชื่อยาอี ย่อจาก “เอ็กสตาซี่” (ecstasy) ยานี้เป็นอนุพันธ์ของ methamphetamine หรือย่อคือ MDMA จัดเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดร้ายแรงประเภท 1 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522


ลักษณะ 

        ที่พบในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเม็ด กลมแบน ผิวเรียบและมีสัญลักษณ์บนเม็ดยา เช่นกระต่าย,ค้างคาว,นก,P.T.ฯลฯ

การเสพยาอี

        เป็นยาที่แพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นที่ชอบเที่ยวกลางคืน เสพโดยการรับประทานเป็นเม็ด และมักเสพร่วมกับการดื่มสุรา ออกฤทธิ์ภายใน เวลา 45 นาทีและฤทธิ์ยาอยู่ในร่างกายนานประมาณ 6-8 ชั่วโมง มีฤทธิ์สูงสุดภายในเวลา 1-5 ชั่วโมง จะถูกขับถ่ายออกจากร่างกายทางปัสสาวะโดยที่ภาวะความเป็นกรดของปัสสาวะช่วยเร่งการขับถ่ายออกให้ได้เร็วขึ้น โดยปกติยาอีและยาเลิฟจะถูกกำจัดออกจากร่างกายได้หมดภายใน 1 ถึง 2 วัน


ผลของยาเลิฟต่อร่างกาย

         ในระยะนี้อาการก้าวร้าวจะลดน้อยลง ความหุนหันพลันแล่นจะลดลงด้วย นอกจากนั้น ยังรู้สึกกระสับกระส่ายทางจิตใจเล็กน้อย และความต้องการเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา ผู้เสพจึงนิยมการเต้นรำมาก เพราะเป็นการตอบสนองต่ออาการของยาได้เป็นอย่างดี ระยะนี้ใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง ในช่วงนี้ผู้เสพมักมีความต้องการทางเพศสูงขึ้น แต่สมรรถภาพการร่วมเพศกลับลดลง
         บางคนอาจจะมีผลข้างเคียงของยา คือ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน กล้ามเนื้อกรามเกร็งตัวทำให้ปวดกรามมาก บดฟันตนเอง สายตาพร่า เหงื่อไหลและมีอาการร้อนวูบวาบไปตามตัว ปวดศีรษะ ตากระตุก อาการข้างเคียงนี้อยู่นานถึง 24 ชั่วโมง


การตรวจวินิจฉัย

           จากตรวจปัสสาวะเป็นหลัก คือตรวจหา amphetamine นั่นเอง
         แต่ amphetamine จากยาอีและยาเลิฟมีขนาดน้อยกว่าที่พบในยาบ้าและสามารถตรวจพบได้ 2-3 วันหลังการเสพ
         แต่ถ้าใช้ตรวจจากเส้นผม จะสามารถตรวจพบได้นานถึง 3 เดือนหลังเสพ


การรักษา

      1. การถอนพิษยา 

          เป็นการรักษาช่วงเมายา หรือเสพยาเกินขนาด รักษาตามอาการ เช่น มีอาการกระสับกระส่าย หรือหวาดผวา ให้ยาพวก benzodiazepines หรือมีอาการอาละวาด หรือมีอาการโรคจิต ก็อาจใช้ยาจำพวกยารักษาโรคจิต การทำให้ปัสสาวะมีภาวะความเป็นกรดมากขึ้น จะเร่งขับถ่ายยาอี และยาเลิฟให้ออกจากร่างกายได้เร็วขึ้น ทำให้ระยะเมาหรือระยะยาเป็นพิษลดสั้นลง โดยการให้วิตามินซีเป็นจำนวน และให้ดื่มน้ำผลไม้เป็นจำนวนมาก การให้อาบน้ำเย็นจัด หรือการให้เดินไปเดินมาจะเป็นการช่วยให้ผู้เมายามีความรู้สึกสบายขึ้นได้

    2. การรักษาการกระหายยา อาจใช้ยาจำพวกที่กระตุ้น dopamine

    3. การป้องกันการติดยาซ้ำ ต้องให้คำแนะนำให้ผู้เสพ เพื่อหลบเลี่ยงสถานการณ์ ที่จะนำไปสู่การเสพยาอีก

    4. การรักษาโรคจิต  อาจมีก่อนติดยา หรือเป็นผลแทรกซ้อน พบบ่อยคือโรคซึมเศร้า 

    5. การแก้ไขสิ่งแวดล้อม และความสัมพันธ์ภายในครอบครัว รวมทั้งการฟื้นฟูสภาพจิตใจ มีความสำคัญในการรักษา


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก  1. http://www.ramamental.com/journal
                               2. http://www.sri.cmu.ac.th/~srilocal/drugs/knowledge



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]