ยาบ้า (Amphetamines)


ยาบ้า เป็นยาเสพติด มีแอมเฟตามีนเป็นส่วนประกอบ มีชื่อเรียก เช่น ยาขยัน ยาแก้ง่วง ยาโด๊ป


ลักษณะ

      ยาบ้า มีรูปแบบต่างๆ เช่น เม็ดเล็กกลมแบน เหลี่ยมรูปหัวใจ หรือแคปซูล มีหลายสี อาจมี สัญลักษณ์ที่ปรากฏบนเม็ดยา เช่น ฬ, ฬ99, M, PG, WY สัญลักษณ์รูปดาว, รูปพระจันทร์เสี้ยว, 99 หรืออาจเป็นลักษณะของเส้นแบ่งครึ่งเม็ด ซึ่งสัญลักษณ์เหล่านี้อาจปรากฏบนเม็ดยาด้านใดด้านหนึ่งหรือทั้งสองด้าน หรืออาจเป็นเม็ดเรียบทั้งสองด้าน


วิธีเสพยาบ้า มี 4 วิธี คือ

1. กิน

2. ฉีดยาเข้าเส้น มักผสมกับยาอื่น เช่น เฮโรอีน ,ยากล่อมประสาท

3. สูบ โดยบดคลุกกับบุหรี่สูบ

4. สูดควันระเหย คล้ายกับสูบบุหรี่ โดยบดแล้วลนไฟ ใส่ในกระดาษฟรอยด์ ลนไฟแล้วใช้หลอดกาแฟดูดควันระเหย


การออกฤทธิ์ต่อร่างกาย 

         ยาบ้า เป็นยาที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เมื่อเสพเข้าสู่ร่างกาย 

        ในระยะแรก ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง ใจสั่น ประสาทตึงเครียด แต่เมื่อหมดฤทธิ์ยาจะรู้สึกอ่อนเพลียมากกว่าปกติ ประสาทล้าทำให้การตัดสินใจช้าและผิดพลาดเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ 

        กลุ่มที่เสพยาบ้าเป็นประจำ จะมีการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพร่างกาย โดย สังเกตจากร่างกายทรุดโทรม โดยเฉพาะพวกที่ใช้ยาแล้วออกเที่ยวเตร่กลางคืนและส่วนมากพอใช้ไปสักระยะหนึ่ง น้ำหนักลดเพราะไม่ค่อยอยากอาหาร เนื่องจากยาบ้ามีผลต่อศูนย์ควบคุมความอยากอาหารในสมอง
 

        กลุ่มที่เสพยาบ้าเกินขนาด ร่างกายไม่สามารถทนต่อยาตามขนาดที่เสพได้ ผู้เสพจะมีอาการเมาเราเรียกว่า “เมายาบ้า” บางรายจะมีอาการคลุ้มคลั่ง หวาดระแวง ถึงขนาดทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ บางรายจะมีอาการประสาทหลอน มีความรู้สึกเหมือนมีแมลงมาไต่ตามแขนขาหรือลำตัว การรับรู้การมองเห็น ได้ยิน ดมกลิ่น และการสัมผัสจะเสียไป

        กลุ่มที่เสพยาบ้าจนติดแล้ว สังเกตเห็นความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจ ร่างกายทรุดโทรม น้ำหนักลด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เพศชายอวัยวะเพศไม่สามารถแข็งตัว ไม่หลั่งน้ำอสุจิ เพศหญิงประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ 


สังเกตคนติดยา 
 
       
สังเกตว่าคนติดยาบ้าจะมีหน้าตาที่เรียวเล็ก แขนและขาผอมลีบ ใบหน้าดำคล้ำ ขอบตาจะดำ เส้นผมแข็งหรือผมร่วง ร่างกายจะผอมผิดปกติ ไม่ชอบอยู่เฉยๆ มีกลิ่นตัวแรง ลมหายใจเหม็น ถ้าไม่แน่ใจว่าบุตรหลานของท่านติดยาหรือไม่ให้ท่านไม่จำเป็นต้องตรวจด้วยยา ให้ใช้วิธีการให้คนๆนั้นยื่นมือยื่นแขนทั้งสองแขนเหยียดตรงมาข้างหน้า แล้วกางมือให้ตั้งฉากกับแขนแล้วกางนิ้วออก หากมีการสั่นผิดปกติ มีแนวโน้มว่าผู้นั้นใช้ยาเสพติด

      
สังเกตจากพฤติกรรมทั่วๆไปเช่น การไม่พักผ่อน นอนดึกเป็นนิสัยแต่ตื่นตอนเช้าตรู่ ไม่ค่อยออกสังคม มีโลกส่วนตัวสูง ชอบอยู่ในสถานที่มิดชิด ปิดห้องนั่งเล่นเกมส์คนเดียว สูบบุหรี่จัด หรือชอบงัดแงะเครื่องจักรกลออกมาทำความสะอาดหรือซ่อมแซม กัดฟันกรามหรือเอามือม้วนที่ปลายผม หรือบีบสิว แต่งหน้าแต่งตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าบ่อยๆ เวลาเรียกทานข้าวมักจะไม่มาทานด้วยเพราะยาชนิดนี้จะช่วยให้ผู้เสพไม่หิวข้าว 

       สังเกตกลุ่มเพื่อนที่มาหา เด็กกลุ่มติดยามักร่วมทำกิจกรรมที่ดูเป็นมิตรเสมอ เช่นซ้อมดนตรี วาดภาพ เปิดติว แต่ความจริงแล้วพวกเขาหาโอกาสมารวมตัวกันเสพยา ให้สังเกตว่ากิจกรรมที่เขาทำอยู่นั้นเนิ่นนานกว่าปกติหรือไม่เช่น ซ้อมดนตรีต่อวันๆ ละ 10 ชั่วโมง เล่นเกมส์กันนานหลายชั่วโมง ไม่กินข้าวกินปลา ถือว่าไม่ปกติ

       สังเกตตามซอกตู้ลิ้นชักว่ามีอุปกรณ์การเสพซ่อนอยู่หรือไม่ เช่นหลอด เวลาซักผ้าให้ตรวจดูในกระเป๋าเพื่อดูว่ามีเศษฟรอยซองบุหรี่หรือไม่


การตรวจยาบ้าในปัสสาวะ

            การตรวจหาสารกลุ่มAmphetamines  มี 2  ขั้นตอน คือ

            1. การตรวจเบื้องต้น (screening test)

            2.และการตรวจเพื่อยืนยัน(confirmation test) ตรวจพบสารในกลุ่ม Amphetamines ในปัสสาวะบอกเพียงว่าผู้นั้นเสพยาบ้าภายใน 24 ชั่วโมง หากเสพมานานกว่านี้จะตรวจไม่พบ เนื่องจากการตรวจปัสสาวะหายาบ้าจะตรวจพบเฉพาะรายที่เสพภายใน 24 ชั่วโมงเท่านั้น และยิ่งปัสสาวะที่มีความเป็นกรดสูง (เช่นกินวิตามินซี น้ำมะนาว ) ยาบ้าก็จะถูกขับออกจากร่างกายเร็วกว่าปกติ โอกาสจะตรวจพบยาบ้าในปัสสาวะก็จะยิ่งน้อยลง

           ฉี่สีม่วง คือ ผลที่ได้จากการทดสอบเบื้องต้น โดยใช้ชุดทดสอบหายาบ้าในปัสสาวะ ซึ่งสารออกฤทธิ์ในเอมเฟตามีนจะทำปฏิกิริยากับน้ำยาตรวจสอบในสภาวะที่เหมาะสม แล้วเปลี่ยนสีของน้ำยาจากสีเหลืองเป็นสีม่วงแดง ในการตรวจใช้เวลา 2 – 5 นาที


การบำบัด รักษา

          การบำบัดรักษาผู้ติดยาบ้าไม่ใช่การทำให้ร่างกายปลอดจากยาเสพติด แต่เป็นการบำบัดรักษาความผิดปกติของร่างกายจากผลของยาเสพติด คือ ความผิดปกติของระบบประสาท โดยเฉพาะสมองส่วนกลาง (Central nervous system) และสารสื่อเคมีสมอง (Neurotransmitter) สมองของผู้ติดยาเสพติดต้องการฤทธิ์ของยาเสพติดที่จะกระตุ้นให้ระบบสมองทำงานอย่างปกติ หากช่วงใดขาดยาเสพติดไปกระตุ้นก็จะเกิดอาการผิดปกติขึ้น

           อาการผิดปกติของร่างกายที่เห็นทันทีที่หยุดยาบ้า คือ อาการถอนพิษยา ซึ่งจะมีอาการหิวบ่อย กินจุ กระวนกระวาย อ่อนเพลียและมีความรู้สึกจิตใจหดหู่ บางรายมีอาการถึงขนาด อยากฆ่าตัวตาย ในระยะนี้ ผู้ติดยาบ้าจะอยากนอนและนอนเป็นเวลานานในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก

           ต่อจากอาการถอนพิษยา ผู้ติดยาบ้าจะมีอาการอยากยามาก ในช่วงนี้ผู้ติดยาเสพติดจะมีความ รู้สึกไม่เป็นสุข ไม่มีกำลังทั้งทางร่างกายและจิตใจ อยากที่จะใช้ยาเพื่อกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้เกิดความกระชุ่มกระชวยกลับมาใหม่ 

           การบำบัดรักษายาบ้าในช่วงแรก เป็นการบำบัดรักษาเพื่อลดอาการถอนพิษยาจึงเป็นการให้ยาตามอาการ เพื่อลดความเครียด อาการซึมเศร้า หรืออาการทางจิตอื่นๆ เช่น อาการหวาดระแวง เพื่อให้ผู้ติดยาเสพติดสามารถประคับประคองตนเองผ่านช่วงนี้ไปให้ได้ หลังจากหยุดยาบ้าประมาณ 3-4 สัปดาห์ อาการถอนพิษยาและอาการอยากยาจะลดน้อยลง


      แม้ว่าผู้ติดยาบ้าที่ผ่านการบำบัดรักษาขั้นถอนพิษยาแล้ว จะมีสุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง แต่ความผิดปกติของระบบสมอง พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้แก้ไข จำเป็นที่จะต้องเข้าสู่ขั้นตอน ฟื้นฟูสมรรถภาพ ต่อไป เพื่อให้ผู้ติดยาบ้าหายขาดไม่หวนกลับไปใช้ยาเสพติดอีก

         การบำบัดรักษายาบ้าให้หายขาด ไม่หวนกลับไปเสพใหม่ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ จำเป็นต้องใช้ระยะเวลา และความช่วยเหลือจากผู้ที่ใกล้ชิด การบำบัดรักษาเฉพาะอาการในช่วงถอนพิษยาอย่างเดียวไม่เป็นการเพียงพอจำเป็นต้องมีกระบวน การฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายและจิตใจ รวมทั้งปรับพฤติกรรมสภาพแวดล้อมทั้งในครอบครัวและกลุ่มเพื่อนให้ดีขึ้น จึงจะทำให้ผู้ติดยาเสพติดหลุดพ้นจากการเป็นทาสยาเสพติดได้อย่างถาวร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 1. http://th.wikipedia.org/w/index.php?title=ยาบ้า&oldid
                              2. http://dmsc2.dmsc.moph.go.th/webroot



Page : [1] [2] [3] [4] [5] [6] [7] [8] [9] [10] [11] [12] [13] [14] [15] [16] [17] [18] [19] [20] [21] [22] [23] [24] [25] [26] [27] [28] [29] [30] [31] [32] [33] [34] [35] [36] [37] [38] [39] [40] [41] [42] [43] [44]